ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (Earth Hour)

ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (Earth Hour) กิจกรรม Earth Hour เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2007 ด้วยการรณรงค์ในชาวซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ปิดไฟ พร้อม ๆ กันเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เพื่อลดการใช้พลังงาน ก่อนจะกลายเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่คนทั่วทุกมุมโลกต่างมีส่วนร่วม ปัจจุบันมีมากกว่า 180 ประเทศที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ใน ทุก ๆ ปี ซึ่งในปีนี้กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ กองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund : WWF) รณรงค์ให้ทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมกิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (Earth Hour) ” เป็นการลดการใช้พลังงานสามารถทำได้โดยการปิดไฟที่ไม่จำเป็น ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน ลดการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ในวันเสาร์ที่ 27 มีนาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 20.30-21.30 น. เป็นระยะเวลา 1 ชั่วโมง

ทำไมในปัจจุบันถึงมีการพูดถึงภาวะโลกร้อนกันเป็นวงกว้าง ซึ่งภาวะโลกร้อน (Global Warming) หมายถึง การที่อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศบนโลกสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอากาศบริเวณใกล้ผิวโลกและน้ำในมหาสมุทร ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นถึง 0.74 – 0.18 องศาเซลเซียส ซึ่งประเด็นโลกร้อนกำลังเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง อันเนื่องมาจากว่าปัจจุบันปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อนกำลังเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อตัวเราโดยตรง และทางอ้อม ซึ่งจากแบบจำลองการคาดคะเนภูมิอากาศพบว่าในปี พ.ศ. 2544 – 2643 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 1.1 – 6.4 องศาเซลเซียส

สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนั่นเกิดจากก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเผาผลาญถ่านหินและเชื้อเพลิงซึ่งเป็นพลังงานสำคัญในการผลิดไฟฟ้า รวมไปถึงสารเคมีที่มีส่วนผสมของก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวัน และสิ่งต่าง ๆ อีกมากมายส่งผลให้ก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ลอยขึ้นไปรวมตัวกันอยู่บนชั้นบรรยากาศของโลกส่งผลให้รังสีของดวงอาทิตย์ที่ควรจะสะท้อนกลับออกไปในปริมาณที่เหมาะสม กลับถูกก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้กักเก็บไว้ ทำให้อุณหภูมิของโลกค่อย ๆ สูงขึ้นจากเดิม

 ผลกระทบของภาวะโลกร้อนนั้นก็มีให้เราเห็นกันอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพลมฟ้าอากาศที่ผิดแปลกไปจากเดิม ภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น น้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุที่รุนแรงและมีความถี่ในการเกิดมากขึ้น อากาศที่ร้อนผิดปกติจนมีคนเสียชีวิต รวมไปถึงโรคระบาดชนิดใหม่ๆ หรือโรคระบาดที่เคยหายไปจากโลกนี้แล้วก็กลับมาให้เราได้เห็นใหม่ และพาหะนำโรคที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น

ซึ่งในอนาคตมีการคาดการณ์ว่าผลกระทบของภาวะโลกร้อนจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เราสามารถช่วยกันลดภาวะโลกร้อนได้หลายวิธี หลัก ๆ ก็เห็นจะเป็นการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและประหยัด เพราะว่าพลังงานที่พวกเราใช้กันอยู่ทุกวันนี้กว่าจะมาถึงให้เราได้ใช้นั้น ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนในการผลิตมากมาย และแต่ละขั้นตอนก็จะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกขึ้นมา เพราะฉะนั้นการลดใช้พลังงานก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ เช่น การปิดไฟเมื่อไม่ได้ใช้ การใช้น้ำอย่างประหยัด การใช้จักรยานแทนรถยนต์ในการเดินทางใกล้ ๆ และอื่น ๆ อีกมากมาย