วันพระบิดาแห่งฝนหลวง

วันพระบิดาแห่งฝนหลวง “วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 นับเป็นอีกวันที่สำคัญที่รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่สืบเนื่องมาจากเสด็จเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 แล้วทรงพบว่าราษฎรได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมและฝนแล้ง ทำให้ทรงมีพระราชดำริในการแก้ปัญหาความทุกข์ร้อนของราษฎรว่าควรที่จะสร้างฝายหรือเขื่อนขนาดเล็ก เพื่อใช้กักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแห้งแล้ง และทรงตั้งมั่นพระราชหฤทัยว่าจะนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยทำให้เกิดฝน นับแต่นั้นมา พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายในการศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางเอกสาร ทั้งทางด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยาและการดัดแปรสภาพอากาศ แล้วทรงพระราชทานแนวคิดนี้ให้แก่หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยสิ่งประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทำการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรกที่บริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยทำการทดลองหยอดก้อนน้ำแข็งแห้งขนาดไม่เกิน 1 ลูกบาศก์นิ้ว เข้าไปในยอดเมฆสูงไม่เกิน 10,000 ฟุต ที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหนือพื้นที่ทดลอง ทำให้กลุ่มเมฆทดลองมีการเปลี่ยนแปลงทางฟิสิกส์ของเมฆ ส่งผลให้เกิดการกลั่นรวมตัวกันอย่างหนาแน่น และก่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ในเวลารวดเร็ว จากการทดลองดังกล่าว ถูกพัฒนา ปรับปรุง และต่อยอดจนสำเร็จเป็นโครงการฝนหลวง ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่เริ่มแรกนั้น ได้มีการเสนอให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและเพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสชื่นชมพระบารมีในทุกๆปี”